ประวัติเทศบาลตำบลร้องกวาง ตั้งอยู่ในอำเภอร้องกวาง แต่เดิมก่อน พ.ศ.2420 อำเภอร้องกวางเป็นหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ในป่า เรียกว่า “บ้านร้องกวาง” คำว่า “ร้อง” เป็นภาษาท้องถิ่น หมายความว่า ร้องน้ำ หรือ ร่องที่น้ำขัง และไหลผ่านตลอดปี หรือหมายถึง “ส่งท้าย” นั่นเอง ส่วนคำว่ากวาง เป็นภาษากลาง หมายถึง ชื่อสัตว์ป่าสี่เท้าชนิดหนึ่ง อันเป็นที่ทราบกันอยู่โดยทั่วไป ภาษาท้องถิ่นเรียกชื่อสัตว์ชนิดเดียวกันนี้ว่า “กวาง”
โดยที่หมู่บ้านแห่งนี้ มีร่องน้ำหรือลำห้วยดังกล่าวไหลผ่านอ้อมหมู่บ้านโดยตลอด ต้นน้ำมีสภาพเป็นป่าทึบ อุดมด้วยต้นไม้นานาชนิด เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีกวางเป็นฝูง ๆ ลงกินน้ำ เล่นน้ำในลำห้วยนี้เป็นประจำ ลำห้วยแห่งนี้ได้ชื่อว่า “ห้วยร้องกวาง” โดยเอาคำว่า “ร้องน้ำ” กับ “กวาง” มารวมกันเหตุที่ไม่เรียกว่า “ห้วยร้องกว๋าง” ก็เพราะว่า “กว๋าง” เป็นภาษาท้องถิ่นรู้กันเฉพาะแห่ง ไม่เป็นที่แพร่หลาย ส่วนคำว่า “กวาง” เป็นภาษากลางมีผู้รู้จักความหมายโดยทั่วไป แม้ในท้องถิ่นอื่นเมื่อเอ่ยคำนี้ก็มีผู้รู้ความหมายเป็นอย่างดี ประกอบกับกลุ่มชนกลุ่มแรกที่มาตั้งถิ่นฐานบ้านช่องที่หมู่บ้านนี้ โดยอพยพมาจาก “บ้านกวางช้างมูบ” ตำบลบ้านกวาง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ จึงประสงค์จะตั้งชื่อหมู่บ้านและถาวรวัตถุอื่น ๆ ให้มีความหมายใกล้เคียงกับชื่อถิ่นฐานเดิมของตนเพื่อเป็นอนุสรณ์เช่นเดียวกับหมู่บ้าน ตำบลอื่น ๆ (เช่น บ้านกาดผาแพร่ ก็ได้อพยพมาจากตำบลบ้านกาศ อำเภอสูงเม่น เป็นต้น) ด้วยเหตุนี้ลำห้วยที่อุดมสมบูรณ์ที่ไหลผ่านหมู่บ้านจึงถูกตั้งชื่อว่า “ห้วยร้องกวาง” และหมู่บ้านที่ถูกตั้งชื่อลำห้วยว่า “บ้านร้องกวาง” และต่อมาได้มีการสร้างวัดขึ้น ก็ได้ชื่อว่า “วัดร้องกวาง” เช่นเดียวกันเมื่อสร้างรูปปั้น “ช้างมูบ” อันเป็นสัญลักษณ์ของ “บ้านกวางช้างมูบ” ไว้ในอุโบสถใกล้แทนพระประธาน เพื่อเป็นอนุสรณ์ ปัจจุบันแม้ได้มีการรื้ออุโบสถหลังเก่าแล้ว แล้วสร้างขึ้นใหม่ก็ได้สร้างรูปปั้น “ช้างมูบ” ดังกล่าวไว้ในอุโบสถหลังใหม่ใกล้แท่นพระประธานเหมือนเดิม เพื่อให้อนุชนรุ่นหลัง ได้ระลึกและได้ทราบความเป็นมาโดยทั่วกัน
ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ประกาศลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2519 โดยยกฐานะท้องถิ่นบางส่วนในตำบลร้องกวาง อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ขึ้นเป็นสุขาภิบาลร้องกวาง ได้ประกาศลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2528 เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลร้องกวาง นำบางส่วนของตำบลทุ่งศรี และตำบลร้องเข็มมารวม เพื่อความเหมาะสมในการบริหารงาน และทำนุบำรุงท้องถิ่น ตามที่ได้ประกาศในราชกิจนุเบกษา เล่ม 102 ตอนที่ 88 วันที่ 9 กรกฎาคม 2528 และได้รับการยกฐานะจากสุขาภิบาลร้องกวาง ตามพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล 2542 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2542
ปี พ.ศ. 2547 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยุบรวมองค์การบริหารส่วนตำบลกับเทศบาลตำบล โดยที่เป็นการสมควรยุบรวมองค์การบริหารส่วนตำบลกับเทศบาลตำบล ที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกันตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตตำบล นั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 41 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546 และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2546 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงประกาศยุบองค์การบริหารส่วนตำบลโดยให้รวมพื้นที่เข้ากับเทศบาลตำบล ดังนี้
(18) องค์การบริหารส่วนตำบลร้องเข็ม รวมกับ เทศบาลตำบลร้องกวาง อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ให้เทศบาลที่รวมกับองค์การบริหารส่วนตำบลตามประกาศนี้มีเขตตามเขตเทศบาลเดิมรวมกับเขตองค์การบริหารส่วนตำบลที่รวมเข้ากับเทศบาล นั้น
ในปีเดียวกัน (พ.ศ.2547) ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยุบรวมสภาตำบลกับเทศบาลตำบล โดยที่เป็นการสมควรยุบรวมสภาตำบลกับเทศบาลตำบล ที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกันตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตตำบล นั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 41 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546 และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 12 ) พ.ศ. 2546 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงประกาศยุบสภาตำบลโดยให้รวมพื้นที่เข้ากับ เทศบาลตำบล ดังนี้ (10) สภาตำบลทุ่งศรี รวมกับ เทศบาลตำบลร้องกวาง อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ให้เทศบาลที่รวมกับสภาตำบล ตามประกาศนี้ มีเขตตามเขตเทศบาลเดิมรวมกับเขตสภาตำบลที่รวมเข้ากับเทศบาล นั้น
ที่ตั้งและอาณาเขตสำนักงานเทศบาลตำบลร้องกวาง ตั้งอยู่ท้องที่ตำบลร้องกวาง อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ห่างจากจังหวัดแพร่ ไปทางทางทิศเหนือ ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร สำนักงานตั้งอยู่บนถนน ยันตรกิจโกศล ทางหลวงหมายเลข 101 เลขที่ 309 หมู่ที่ 2 ตำบลร้องกวาง อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ เทศบาลตำบลร้องกวางมีพื้นที่รับผิดชอบ 73.24 ตารางกิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อทิศเหนือ | ติดต่อกับ | เขตตำบลร้องกวาง , เขตตำบลแม่ทราย |
ทิศใต้ | ติดต่อกับ | เขตตำบลร้องเข็ม , ตำบลแม่ยางตาล, ตำบลน้ำเลา, ตำบลตำหนักธรรม อำเภอหนองม่วงไข่ |
ทิศตะวันออก | ติดต่อกับ | เขตตำบลทุ่งศรี , ตำบลร้องกวาง |
ทิศตะวันตก | ติดต่อกับ | เขตตำบลร้องกวาง , ตำบลแม่ยางฮ่อ |
ลักษณะประเทศ เทศบาลตำบลร้องกวาง มีลักษณะภูมิประเทศ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบน้ำท่วมไม่ถึงและลาดต่ำลงไปด้านตะวันออกชุมชนเป็นพื้นที่ทำการเกษตร มีลำเหมือง แม่น้ำ ส่วนด้านตำวันตก เป็นที่ดอน เป็นป่าโปร่ง ค่อนข้างขาดน้ำ ส่วนใหญ่เป็นที่ว่างเปล่า
ลักษณะภูมิอากาศลักษณะภูมิอากาศ ฤดูร้อน ช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 41 องศาเซลเซียส ฤดูฝน ประมาณปลายเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนกันยายน มีปริมาณฝนตกชุกที่สุด ในช่วงเดือน มิถุนายน ถึง เดือนกรกฎาคม
จำนวนประชากรในตำบล | | | |
จำนวนประชากร (คน) | จำนวนครัวเรือน |
ชาย | หญิง | รวม | |
6,113 | 6,712 | 12,825 | 5,897 |
จำนวนครัวเรือน และประชากรในเขตเทศบาลตำบลร้องกวาง แยกเป็นรายหมู่บ้าน 22 หมู่บ้าน 3 ตำบล
ตำบลร้องกวาง
| | | | | |
| | จำนวนประชากร (คน) | |
หมู่ที่ | ชื่อหมู่บ้าน | ชาย | หญิง | รวม | จำนวนครัวเรือน |
1 | บ้านร้องกวาง | 360 | 417 | 777 | 541 |
2 | บ้านร้องกวาง | 327 | 424 | 751 | 517 |
4 | บ้านกาศผาแพร่ | 160 | 178 | 338 | 146 |
5 | บ้านวังโป่ง | 315 | 315 | 630 | 220 |
7 | บ้านร้องกวาง | 233 | 292 | 525 | 283 |
9 | บ้านร้องกวาง | 324 | 357 | 681 | 503 |
12 | บ้านกาศใต้ | 113 | 121 | 234 | 86 |
13 | บ้านร้องกวาง | 314 | 338 | 652 | 550 |
| รวม 8 หมู่ | 2,146 | 2,442 | 4,588 | 2,849 |
ตำบลร้องเข็ม
| | | | | |
| | จำนวนประชากร (คน) | |
หมู่ที่ | ชื่อหมู่บ้าน | ชาย | หญิง | รวม | จำนวนครัวเรือน |
1 | บ้านร้องเข็ม | 255 | 269 | 524 | 223 |
2 | บ้านร้องเข็ม | 169 | 174 | 343 | 123 |
3 | บ้านน้ำโค้ง | 359 | 326 | 685 | 204 |
4 | บ้านดอนมูล | 377 | 439 | 816 | 261 |
5 | บ้านใหม่จัดสรร | 236 | 237 | 473 | 172 |
6 | บ้านปากทาง | 352 | 357 | 709 | 511 |
7 | บ้านร้องเข็ม | 258 | 294 | 552 | 179 |
8 | บ้านหัวดง | 176 | 187 | 363 | 124 |
9 | บ้านร้องเข็ม | 262 | 299 | 561 | 180 |
| รวม 9 หมู่ | 2,444 | 2,582 | 5,026 | 1,977 |
ตำบลทุ่งศรี
| | | | | |
| | จำนวนประชากร (คน) | |
หมู่ที่ | ชื่อหมู่บ้าน | ชาย | หญิง | รวม | จำนวนครัวเรือน |
1 | บ้านวังหม้อ | 346 | 379 | 725 | 228 |
2 | บ้านผาราง | 394 | 368 | 762 | 223 |
3 | บ้านทุ่งศรี | 138 | 190 | 328 | 125 |
4 | บ้านต้นเดื่อ | 363 | 426 | 789 | 257 |
5 | บ้านปากทาง | 282 | 325 | 607 | 238 |
| รวม 5 หมู่ | 1,523 | 1,688 | 3,211 | 1,071 |
* หมายเหตุ ข้อมูลจากทะเบียนราษฎร เทศบาลตำบลร้องกวาง ณ เดือน เมษายน 2559